Resource Manager Posted May 7, 2012 Report Share Posted May 7, 2012 พระคริสต์จะเสด็จมา ! คำสอนในพระคัมภีร์เกี่ยวกับการเสด็จกลับมาของพระองค์ ครั้งหนึ่งผู้คนในวงการศาสนาเคยเชื่อกันว่าพระเยซูจะไม่เสด็จกลับมายังโลกอีก ในปัจจุบันยังมีผู้คนที่เชื่อเช่นนี้อยู่มาก แต่ขณะเดียวกันก็มีอีกหลายคนที่หันมาเชื่อว่าการเสด็จมาครั้งที่สองเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญมากเหตุการณ์หนึ่ง ชาวคริสเตเดลเฟียน สอนอยู่เสมอว่าการเสด็จกลับมายังโลกของพระเยซูคริสต์เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพื่อที่จะทำให้พระประสงค์ของพระเจ้าสำเร็จไป แผ่นพับฉบับนี้จะเล่าถึงคำสอนในพระคัมภีร์ที่ว่าด้วยการเสด็จมาครั้งที่สอง รวมทั้งเหตุการณ์ต่างๆที่จะนำไปสู่เหตุการณ์อัศจรรย์นั้นและเหตุผลที่พระเป็นเจ้าจำเป็นต้องเสด็จกลับมา คำสอนในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ มีบางคนได้ลองนับดูว่าพระธรรมใหม่กล่าวถึงเรื่องนี้บ่อยเพียงใด พวกเขานับจำนวนครั้งที่กล่าวถึงได้ 318 ครั้ง ซึ่งเมื่อลองเทียบกับเรื่องความรักของคริสเตียนดูแล้ว พบว่ามีเพียง 115 ครั้งเท่านั้น จากการเปรียบเทียบข้างต้น คุณคงจะทราบแล้วว่าเรื่องการเสด็จกลับมาของพระเยซูนั้นสำคัญเพียงใด มีผู้ที่ร่วมประพันธ์พระธรรมภาคพันธสัญญาใหม่หลายรายกล่าวถึงเรื่องนี้ในงานเขียนของพวกเขา พระเยซูได้ตรัสถึงพระอาณาจักรของพระเจ้าและการเสด็จมาครั้งที่ 2 ของพระองค์ ทรงกล่าวคำอุปมาหลายเรื่องแก่ผู้ที่คิดว่าพระอาณาจักรของพระเจ้าจะมาปรากฏในปัจจุบันทันใด พระองค์ทรงยกตัวอย่างของเจ้านายองค์หนึ่ง ซึ่งต้องไปยังแดนไกล “เพื่อจะรับอำนาจมาครองแผ่นดินแล้วจะกลับมา” (ลูกา 19:12) มากกกว่าหนึ่งครั้งที่พระองค์ตรัสถึงการเสด็จมาของบุตรมนุษย์ (เช่นใน มัทธิว 24:27, 30, 37, 39, 48; 25:27; 26:64) และเมื่อตรัสย้ำถึงการสถิตอยู่ด้วยของพระองค์ในแง่ของจิตวิญญาณซึ่งพวกสาวกไม่อาจมองเห็นพระองค์ได้ นี่เป็นการเดินทางร่วมกันไป “จนกว่าจะสิ้นยุค” พระองค์ได้ทรงแสดงให้พวกเขารู้ว่าพระองค์จะอยู่กับพวกเขาเสมอไป คำพยานของเหล่าอัครสาวกเองก็เรียบง่ายตรงไปตรงมาไม่แพ้กัน พวกเขาได้รับการสั่งสอนโดยพระอาจารย์ที่เป็นขึ้นจากความตาย ซึ่งคอยสั่งสอนพวกเขาในช่วงสี่สิบวันสุดท้ายก่อนที่จะเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ไปต่อหน้าต่อตาพวกเขา พระองค์ทรงสอนเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้า การกอบกู้อาณาจักรอิสราเอลขึ้นอีก (กิจการ 1:3, 6) นับเป็นการเปิดเผยพระองค์หลังการคืนพระชนม์ซึ่งกระทำให้คำทำนายทั้งหมดในพระธรรมภาคพันธสัญญาเดิมเกี่ยวกับพระองค์กลายเป็นจริง (ลูกา 24:27) เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นสู่สวรรค์ที่ภูเขามะกอกเทศ พระเจ้าทรงส่งทูตสวรรค์ของพระองค์มาอธิบายให้สาวกฟัง “ชาวกาลิลีเอ๋ย เหตุไฉนท่านจึงเขม้นดูฟ้าสวรรค์ พระเยซูองค์นี้ซึ่งทรงรับไปจากท่านขึ้นไปยังสวรรค์นั้นจะเสด็จมาอีกเหมือนอย่างที่ท่านทั้งหลายได้เห็นพระองค์เสด็จไปยังสวรรค์นั้น” (กิจการ 1:11) จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดที่เหล่าสาวกเริ่มออกไปสั่งสอนประชาชนตามท้องถนนในกรุงเยรูซาเล็มถึงเรื่องที่ว่าพระเยซูคริสต์จะเสด็จกลับมายังโลกอีกในฐานะของกษัตริย์ เปโตร ออกนำในการประกาศเมื่อท่านกล่าวว่าหลุมศพไม่อาจกักขังพระเยซูไว้ได้ ท่านอ้างถึงพระธรรมสดุดี 110:1 ซึ่งพระเยซูเองก็เคยตรัสอ้างถึง เพื่อจะบอกว่าพระองค์เสด็จกลับสวรรค์จนถึงเวลาที่ศัตรูทั้งหลายของพระองค์จะถูกปราบลง (2:34, 35) ลองสังเกตการใช้ภาษาที่บ่งบอกถึงความสำคัญของเรื่องนี้ในพระธรรมเดิม ขอให้เรานึกถึงประเด็นสำคัญด้วยว่าคำสอนในพระคัมภีร์ไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อบอกเราให้รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป แต่ประกอบด้วยความมุ่งหมายที่ลึกซึ้งกว่านั้น นั่นคือเพื่อให้เราใช้ความรู้ที่ได้รับมานี้เตรียมตัวเราเองให้พร้อมรับกับเหตุการณ์ที่จะมาถึง “เหตุฉะนั้นให้พงศ์พันธุ์อิสราเอลทั้งปวงทราบแน่นอนว่าพระเจ้าได้ทรงยกพระเยซูนี้ซึ่งท่านทั้งหลายได้ตรึงไว้ที่กางเขนนั้นทรงตั้งขึ้นให้เป็นทั้งองค์พระผู้เป็นเจ้าและเป็นพระคริสต์…จงกลับใจใหม่และรับบัพติศมา{พิธีใช้น้ำเป็นสัญลักษณ์เล็งถึงการที่พระเจ้าทรงให้อภัยคนบาป}ในพระนามแห่งพระเยซูคริสต์สิ้นทุกคนเพื่อพระเจ้าจะทรงยกความผิดบาปของท่านเสีย” (กิจการ 2:36, 38) สิ่งที่ควรเกิดขึ้นตามมาหลังจากที่เราได้พิจารณาความจริงในพระคัมภีร์เรื่องการเสด็จกลับมาของพระองค์ คือ การที่เราจะลองสำรวจใจของเราดู Link to comment Share on other sites More sharing options...
Resource Manager Posted May 7, 2012 Author Report Share Posted May 7, 2012 ข้อเขียนอื่นๆในพระธรรมภาคพันธสัญญาใหม่แล้วข้อเขียนของผู้ประพันธ์พระธรรมภาคพันธสัญญาใหม่รายอื่นๆเป็นอย่างไรกันบ้าง ให้เรามาพิจารณาจดหมายในพระธรรมภาคพันธสัญญาใหม่ดูสักฉบับหนึ่ง จดหมายฉบับแรกที่เปาโลเขียนถึงชาวเธสะโลนิกา ให้สังเกตดูว่าท่านเน้นถึงเรื่องความจริงที่ว่าพระเยซูเจ้าจะเสด็จกลับมายังโลก :“และรอคอยพระบุตรของพระเจ้าจากสวรรค์…ผู้ทรงช่วยให้เราพ้นจากพระอาชญาที่จะมีมาภายหน้านั้น” (1:10)“เพราะอะไรเล่าจะเป็นความหวังหรือความชื่นชมยินดีหรือสิ่งภูมิใจจำเพาะพระพักตร์พระเยซูคริสตเจ้าเมื่อพระองค์จะเสด็จมาก็มิใช่ท่านทั้งหลายดอกหรือ” (2:19)“เพื่อพระองค์จะได้ทรงชูใจของท่านไว้ให้ดำรงอยู่ในความบริสุทธิ์ปราศจากข้อตำหนิ...เมื่อพระเยซูเจ้าของเราจะเสด็จมากับธรรมิกชนทั้งปวงของพระองค์” (3:13)“ด้วยว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าจะเสด็จมาจากสวรรค์ด้วยพระดำรัสสั่ง” (4:16)“วันขององค์พระผู้เป็นเจ้าจะมาเหมือนอย่างขโมยที่มาในเวลากลางคืน..” (5:2)“ขอให้องค์พระเจ้า...ทรงรักษาทั้งวิญญาณจิตใจและร่างกายของท่านไว้ให้ปราศจากการติเตียนจนถึงวันที่พระเยซูคริสตเจ้าของเราเสด็จมา..” (5:23)คุณสามารถสืบเรื่องนี้เพิ่มเติมต่อได้หากต้องการ ความสำคัญของการเสด็จมาของพระเยซูยังคงดำเนินต่อไปในจดหมายต่างๆที่อยู่ในพระธรรมภาคพันธสัญญาใหม่ ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับการดำเนินชีวิตประจำวันแบบคริสเตียนด้วย เพราะว่าพระองค์จะเสด็จมาอีกครั้ง ดังนั้นจึงมีหลายเรื่องในชีวิตนี้ที่เราต้องใส่ใจดูแล ซึ่งเราเองไม่ควรละเลยคำสอนในพระธรรมภาคพันธสัญญาเดิมบุคคลที่นับจำนวนคำกล่าวที่กล่าวถึงเรื่องการเสด็จกลับมาได้ 318 ครั้งในพระธรรมใหม่ ยังย้อนกลับไปสืบค้นในพระธรรมเดิมด้วย และพบว่ามีถึง 1,527 แห่งที่กล่าวถึงเหตุการณ์เรื่องหนึ่งจากบรรดาเหตุการณ์ที่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้า นั่นคือ การเสด็จกลับมาของพระคริสต์ในฐานะกษัตริย์ ขอให้เรารู้ว่าตัวเลขที่ได้นั้นไม่สำคัญ ความเห็นเรื่องตัวเลขนี้มีได้แตกต่างตามแต่จะคิด แต่สิ่งนี้คงจะทำให้ผู้อ่านต้องทึ่งว่ามีหลักฐานอ้างอิงมากถึง 5 เท่าที่กล่าวถึงการเสด็จมาครั้งที่สอง บันทึกอยู่ในส่วนของพระคัมภีร์ที่คนเรามักจะไม่ได้อ่านความจริงของเรื่องนี้ก็คือ พระธรรมภาคพันธสัญญาใหม่จะเป็นที่เข้าใจได้ก็ต่อเมื่อได้มีการศึกษาพระธรรมภาคพันธสัญญาเดิมมาแล้ว พระธรรมทั้งสองภาคต่างต่างสอดคล้องสนับสนุนกันและกันในแง่ของการแสดงออกถึงความจริงที่พระเจ้าทรงเผยแสดงต่อมนุษย์ สิ่งที่พระธรรมเดิมทำนายว่าจะเกิด ก็จะมาสำเร็จเสร็จสิ้นลงในพระธรรมใหม่ แต่ก็ยังมีคำทำนายอีกไม่น้อยในพระธรรมเดิมที่ยังไม่เกิดขึ้นตามที่กล่าวไว้ลองพิจารณาพระสัญญาต่างของกษัตริย์องค์หนึ่งที่จะมาปกครองพระอาณาจักรของพระเจ้าบนโลกมนุษย์ แล้วลองถามตัวเองว่าพระสัญญาเหล่านั้นได้เกิดขึ้นจริงบ้างหรือยัง ปฐมกาล “เชื้อสายของเจ้าจะได้ประตูเมืองศัตรูของเจ้าเป็นกรรมสิทธิ์” (22:17, 18 ดูกิจการ 3:25, กาลาเทีย 3:16) 2 ซามูเอล “เมื่อวันของเจ้าครบแล้วและเจ้านอนพักอยู่กับบรรพบุรุษของเจ้าเราจะให้บุตรชายคนหนึ่งของเจ้าเกิดขึ้นสืบต่อจากเจ้าผู้ซึ่งเกิดมาจากตัวเจ้าเองและเราจะสถาปนาอาณาจักรของเขา เราจะเป็นบิดาของเขาและเขาจะเป็นบุตรของเรา ถ้าเขากระทำผิดเราจะตีสอนเขาด้วยไม้เรียวของมนุษย์ด้วยการเฆี่ยนแห่งบุตรมนุษย์ทั้งหลาย” (7:12, 13) สดุดี “ข้าพเจ้าจะบอกถึงพระดำรัสของพระเจ้า พระองค์รับสั่งกับข้าพเจ้าว่า"เจ้าเป็นบุตรของเราวันนี้เราได้ให้กำเนิดแก่เจ้าแล้ว จงขอจากเราเถิดและเราจะมอบบรรดาประชาชาติให้เป็นมรดกของเจ้าตลอดทั้งแผ่นดินโลกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้า” (2:7,8 กิจการ 4:25,26) “ขอท่านครอบครองจากทะเลถึงทะเลและจากแม่น้ำนั้นถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก..” (72:6-8) อิสยาห์ “ในยุคหลังจะเป็นดังนี้ คือภูเขาแห่งพระนิเวศของพระเจ้า จะถูกสถาปนาขึ้นให้สูงที่สุดในจำพวกภูเขาทั้งหลายและจะถูกยกขึ้นให้เหนือบรรดาเนินเขาและประชาชาติทั้งสิ้นจะหลั่งไหลเข้ามาหา.. เพราะว่าพระธรรมจะออกมาจากศิโยนและพระวจนะของพระเจ้าจะออกมาจากเยรูซาเล็ม..พระองค์ทรงวินิจฉัยระหว่างบรรดาประชาชาติ” (2:2-4) “เพื่อการปกครองของท่านจะเพิ่มพูนยิ่งขึ้นและสันติภาพจะไม่มีที่สิ้นสุด เหนือพระที่นั่งของดาวิดและเหนือราชอาณาจักรของพระองค์ที่จะสถาปนาไว้และเชิดชูไว้ด้วยความยุติธรรมและด้วยความชอบธรรมตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนนิรันดรกาล” (9:7) เยเรมีย์ “พระเจ้าตรัสว่าดูเถิดวันเวลาจะมาถึงเมื่อเราจะเพาะอังกูรชอบธรรมให้ดาวิดและท่านจะทรงครอบครองเป็นกษัตริย์และกระทำกิจอย่างเฉลียวฉลาดและจะทรงประทานความยุติธรรมและความชอบธรรมในแผ่นดินนั้น ในสมัยของท่านยูดาห์จะรอดได้และอิสราเอลจะอาศัยอยู่อย่างมั่นคง และนี่จะเป็นนามซึ่งเราจะเรียกท่านคือ'พระเจ้าเป็นความชอบธรรม{หรือความรอดหรือการช่วยกู้}ของเรา” (23:5-6) Link to comment Share on other sites More sharing options...
Resource Manager Posted May 7, 2012 Author Report Share Posted May 7, 2012 พระอาณาจักรของพระเจ้า พระเจ้าทรงสัญญาไว้หลายครั้งว่าจะทรงปกครองโลกนี้ สิ่งที่มนุษย์ทำไม่สำเร็จ พระองค์จะทรงกระทำให้เกิดมีขึ้น กษัตริย์พระองค์นั้นจะเป็นลูกหลานของทั้งอับราฮัมและดาวิด (ดูมัทธิว 1:1) พระองค์จะทรงปกครองจากกรุงเยรูซาเล็ม บนพระบัลลังก์ของกษัตริย์ดาวิด (อ่านลูกา 1:31-33) พระอาณาจักรของพระองค์จะเป็นสถานที่ที่ปกครองด้วยความยุติธรรมและความชอบธรรม จะมีการสอนเรื่องของพระเจ้า การนมัสการในพระวิหาร และการใช้อำนาจแห่งกษัตริย์ของพระองค์เพื่อให้เกิดสันติภาพขึ้นในโลก (อ่านวิวรณ์ 11:15-18) กาลครั้งหนึ่ง พระอาณาจักรของพระเจ้าเคยตั้งอยู่บนโลก กษัตริย์ดาวิดและเชื้อสายของพระองค์ได้ทรงปกครองพระบัลลังก์แห่งพระอาณาจักรของพระเจ้า (1 พงศาวดาร 28:5) พระบัลลังก์นั้นไม่ได้มีความพิเศษแต่อย่างใด สิ่งที่พิเศษคือการเจิมแต่งตั้งของพระเจ้าให้คนเหล่านั้นมาเป็นกษัตริย์ปกครองต่างหาก และเมื่อกษัตริย์พระองค์แล้วพระองค์เล่าละทิ้งกฏหมายของพระเจ้า พระเจ้าจึงทรงให้สภาพการเป็นพระอาณาจักรนั้นยุติลงเสีย แต่แม้ในคราที่ผู้เผยพระวจนะเอเสเคียลประกาศถึงการล่มสลายของอาณาจักรของกษัตริย์เศเดคียาห์ (ใน 21:25-27) ท่านก็ยังสัญญาว่าพระเจ้าจะทรงฟื้นฟูอาณาจักรบนแผ่นดินโลกแห่งนี้ขึ้นมาอีกครั้งเมื่อ “ผู้มีสิทธิ์อันชอบธรรมจะมาถึง” ดังนั้นเราจำเป็นต้องทำความเข้าใจการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์ยังโลกนี้โดยอาศัยพื้นฐานทางประวัติสาสตร์ของอิสราเอลที่บรรจุอยู่ในพระธรรมเดิม ประกอบเข้าไปเสียก่อน เมื่อพระเยซูทรงเริ่มออกเทศนาสั่งสอนประชาชนโดยประกาศว่าพระอาณาจักรของพระเจ้ามาใกล้แล้ว (มาระโก 1:15) พระองค์กำลังกล่าวแก่ผู้ที่ทราบถึงพระสัญญาของพระเจ้าที่อยู่ในพระธรรมเดิมว่า พระองค์คือกษัตริย์ที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้นั้น แต่ก่อนหน้านั้นพระเยซูต้องทรงแสวงหาความชอบธรรมด้วยตัวพระองค์เองก่อน เพื่อที่จะเป็นหนทางให้ผู้อื่นเอาอย่างในการคืนดีกับพระเจ้า บัดนี้เราจึงสามารถมีสันติภาพร่วมกับพระเจ้าได้ผ่านการยกโทษบาปผิดของเรา โดยอาศัยพันธกิจการช่วยให้รอดของพระเยซูเจ้า แต่ก่อนอื่น เราจะต้องเข้าใจพระคัมภีร์เสียก่อน รวมถึงคำสอนในพระคัมภีร์ที่เกี่ยวกับพันธกิจของพระองค์และตัวของพระเยซูเจ้าเอง รวมทั้งพระอาณาจักรที่พระองค์จะทรงปกครอง แล้วเราก็จะต้องรับบัพติศมาในฐานะที่เราเป็นผู้ใหญ่ที่เชื่อในพระนามของพระองค์ ที่ช่วยให้รอดจากบาปได้ (อ่าน กิจการ 8:12) จงดูกษัตริย์ของเจ้าเถิด ! แต่การเสด็จกลับมาครั้งที่สองของพระเยซูเจ้าจะเป็นอย่างไร จะเป็นไปได้ไหมที่เราจะพลาดจนไม่ได้เห็นการเสด็จกลับมากับตาเราเองและอาจจะไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าเหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นแล้ว เหตุการณ์นี้จะเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาเราหรือไม่ พระเยซูเจ้าจะเสด็จมาด้วยพระองค์เป็นๆหรือมาในรูปของการปรากฏของพระวิญญาณ และพระองค์จะมายังโลกเลยหรือเพียงแค่เสด็จมุ่งมาทางโลกขอเรา พระเยซูคริสต์ทรงฟื้นคืนพระชนม์จากอุโมงค์นั้นทั้งพระกายด้วย พระองค์มิใช่ พระองค์มิใช่วิญญาณที่เรามองไม่เห็น แต่ทรงเป็นผู้ที่เรามองเห็นได้ เราสามารถพินิจดูพระองค์ได้และจับต้องพระองค์ด้วยมือ (1 ยอห์น 24, ลูกา 24:39, 40) พระกายของพระองค์เต็มไปด้วยหลักฐานแห่งการทนทรมาน แต่กระนั้นพระองค์ก็ไม่ถูกจำกัดด้วยข้อจำกัดของร่างกายมนุษย์อีกต่อไป พระองค์สามารถเข้าออกได้เสมอแม้ประตูจะปิดลงกลอนสนิทและบนภูเขามะกอกพระองค์เสด็จขึ้นไปยังสวรรค์ทั้งพระกายเนื้อซึ่งตรงกันข้ามกับกฏของแรงโน้มถ่วงของโลกเลยทีเดียว บรรดาสาวกเห็นพระองค์เสด็จไป ซึ่งพระองค์จะเสด็จกลับมาอย่างเดียวกับที่เสด็จไป อย่างที่ทูตสวรรค์กล่าวว่า “ดูเถิดพระองค์จะเสด็จมาพร้อมกับหมู่เมฆและนัยน์ตาทุกดวงและคนเหล่านั้นที่ได้แทงพระองค์จะเห็นพระองค์..” (วิวรณ์ 1:7) หรืออย่างที่เศคาริยาห์ผู้ประกาศในพระธรรมเดิมได้ทำนายไว้นานมาก ก่อนการตรึงกางเขนพระเยซูว่า “เขาทั้งหลายมองดูเราผู้ซึ่งเขาเองได้แทงเขาจะไว้ทุกข์เพื่อท่านเหมือนคนไว้ทุกข์..” (12:10) คงไม่เกิดประโยชน์ที่จะกล่าวว่าเฉพาะคนที่มีศรัทธาเท่านั้นถึงจะเห็นพระองค์ได้ บางคนจะมอง เห็น และคร่ำครวญ (วิวรณ์ 1:7) เช่นเดียวกัน คงไม่เกิดประโยชน์อะไรถ้าจะกล่าวว่าพระเยซูจะเสด็จมาโดยที่เรามองด้วยตาไม่เห็น เพราะพระองค์เองก็ทรงเตือนเราว่า “ในเวลานั้นถ้าผู้ใดจะบอกพวกท่านว่า'แน่ะพระคริสต์อยู่ที่นี่'หรือ'อยู่ที่โน่น'อย่าได้เชื่อเลย.. ด้วยว่าจะมีพระคริสต์เทียมเท็จและผู้ทำนายเทียมเท็จหลายคนเกิดขึ้น..” (มัทธิว 24:23, 24) การจะมาถกเถียงกันเรื่องการปรากฏของพระคริสต์ก็คงไม่เกิดประโยชน์ เพราะพระองค์จะมาอย่างที่เราไม่ทันรู้ตัว พระคัมภีร์ใหม่ยังกล่าวถึงการเปิดเผยของพระองค์เอง โดยใช้คำที่หมายความว่าเปิดออกหรือเผยแสดง จริงๆแล้ว การปรากฏพระองค์ของพระเยซูเจ้า (ในภาษากรีก : parousia) กลับกลายเป็นคำที่เหมาะสมยิ่งทีเดียว หนึ่งในพจนานุกรมภาษากรีกที่น่าเชื่อถือที่สุดกล่าวถึงคำนี้ว่า “คำนี้กลายเป็นคำที่ใช้เรียกการมาเยือนของบุคคลที่มีตำแหน่งสูง โดยเฉพาะพระมหากษัตริย์และพระจักรพรรดิผู้ที่เสด็จมาเยี่ยมเขตพื้นที่นั้นๆ” (Arndt and Gingrich) เหตุการณ์ที่พระคัมภีร์พยากรณ์ไว้ถือเป็นการเสด็จมาขององค์กษัตริย์โดยแท้ ฝูงชนที่มาเฝ้าพระเยซูผู้เป็นกษัตริย์เสด็จสู่กรุงเยรูซาเล็มบนหลังลาในครั้งนั้นมีมากมาย พวกเขาได้โยนเสื้อคลุมและใบปาล์มไว้หน้าขบวนเสด็จของพระองค์ พวกเขาตะโกนร้องสรรเสริญพระองค์ซึ่งตรงกับพระสัญญาข้อหนึ่งของพระเจ้าที่ว่า “ความสุขสวัสดิมงคลจงมีแก่แผ่นดินของดาวิดบรรพบุรุษของเราที่จะมาตั้งอยู่โฮซันนาในที่สูงสุด” (มาระโก 11:10) มัทธิวให้ความเห็นว่าการร้องสรรเสริญด้วยความยินดีนั้นเป็นภาพที่แสดงให้เห็นล่วงหน้าของสิ่งที่เศคาริยาห์ได้ทำนายไว้ เมื่อท่านเขียนไว้ว่า “ดูเถิดกษัตริย์ของเธอเสด็จมาหาเธอ” ทีนี้หากว่าการเสด็จมาครั้งแรกของพระองค์ยังมีประชาชนมาเฝ้ารับเสด็จด้วยความยินดีมากมายเช่นนี้ ลองคิดดูว่าการเสด็จมาในครั้งที่สองนี้จะเป็นเช่นไร เศคาริยาห์ประกาศไว้ว่า “ธิดาแห่งศิโยนเอ๋ย จงร่าเริงอย่างยิ่งเถิด โอบุตรีแห่งเยรูซาเล็มเอ๋ย จงโห่ร้อง ดูเถิดกษัตริย์ของเธอเสด็จมาหาเธอ ทรงความยุติธรรมและความรอดพระองค์… ท่านจะบัญชาสันติให้มีแก่ประชาชาติทั้งหลายอาณาจักรของท่านจะมีจากทะเลนี้ไปถึงทะเลโน้นและจากแม่น้ำนั้นไปถึงสุดปลายพิภพ.. ” (เศคาริยาห์ 9:9,10) Link to comment Share on other sites More sharing options...
Resource Manager Posted May 7, 2012 Author Report Share Posted May 7, 2012 การทำให้คำพยากรณ์ในพระคัมภีร์ทั้งสองเล่มสำเร็จไป พระคัมภีร์แสดงให้เห็นภาพคำทำนายที่ใช้กันอย่างกว้างขวาง นั่นคือ ลักษณะที่สัมพันธ์กันในระยะสั้นและในระยะยาว ชาวเยรูซาเล็มต่างยินดีกับการเสด็จมาของพระองค์อย่างกษัตริย์ “พระองค์ทรงอ่อนสุภาพและทรงลาทรงลูกลา..” อย่างที่ผู้เผยพระวจนะได้กล่าวไว้ แต่ความยินดีของพวกเขาเป็นความยินดีช่วงสั้นๆเพราะพระองค์มิได้เสด็จไปสถาปนาสันติภาพให้เกิดมีขึ้นในโลกหรือออกกฏจากกรุงเยรูซาเล็มเหนืออาณาจักรที่ตั้งอยู่เป็นนิรันดร์ พระเยซูทรงกระทำให้คำทำนายเป็นจริงได้มากพอที่จะเชื่อได้ว่าพระองค์คือผู้ที่จะเสด็จมานั้น สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเชื่อได้ว่าพระองค์จะเสด็จกลับมาเพื่อทำให้โลกเป็นไปตามพระสัญญา เศคาริยาห์ย่อการเสด็จมาทั้งสองครั้งให้ดูเหมือนว่าไม่มีช่วงว่างของเวลาระหว่างเหตุการณ์ทั้งสองเลย สิ่งนี้ทำให้หลายคนถกเถียงกันว่าพระอาณาจักรจะไม่มีวันมา เพราะพวกเขาคิดว่า แม้แต่พระเยซูยังหวังจะให้พระอาณาจักรมาในศตวรรษที่ 1 หรือหลังจากนั้นไม่นานนัก ดังนั้นพระสัญญาข้อนี้จึงถูกมองข้ามไปในฐานะที่เป็นความหวังของคริสตชนยุคแรก ซึ่งในปัจบันถูกแทนที่ด้วยความเข้าใจที่เหนือกว่า แต่เมื่อมีการศึกษาพระคัมภีร์อย่างละเอียด ก็เป็นที่กระจ่างว่าการเสด็จกลับมาของพระเยซูคริสต์นั้นจะยังไม่เกิดขึ้นทันทีหลังจากที่เสด็จกลับสู่สวรรค์ วันและชั่วโมงนั้น ความพยายามใดๆที่จะบอกว่าพระเยซูคริสต์ทรงเข้าใจผิดเรื่องวันเวลาที่พระองค์เองจะเสด็จมานั้น เห็นจะต้องล้มเหลว เพราะพระองค์ตรัสไว้มากกว่า 1 ครั้งว่าพระองค์เองก็ไม่ทราบกำหนดเวลานั้น “แต่วันนั้นโมงนั้นไม่มีใครรู้ถึงบรรดาทูตสวรรค์หรือพระบุตรก็ไม่รู้รู้แต่พระบิดาองค์เดียว” (มัทธิว 24:36) อย่างที่พระองค์ได้ตรัสในภายหลัง กำหนดการนั้นเป็นสิ่งที่พระบิดาทรงถือเป็นสิทธิของพระองค์ที่จะเลือก (กิจการ 1:7) แต่พระเยซูทรงทราบว่าเวลาจะผ่านไปนานทีเดียวก่อนที่พระองค์จะเสด็จกลับมาอีกครั้ง พระองค์ตรัสเป็นอุปมาเพื่อชี้ให้เห็นว่าการเสด็จกลับมานั้นจะไม่ใช่ การ “ปรากฏโดยพลัน” (ลูกา 19:11) ยังตรัสด้วยว่าจะต้องรอนาน ดูจาก “อยู่มาช้านาน” (มัทธิว 25:19) และสำหรับคนที่รอคอยพระองค์ อาจต้องรอนานอีกสักหน่อย (25:3) เช่นเดียวกับพระอาจารย์ของพวกเขา สาวกของพระองค์ควรต้องยินดี ที่พวกเขา “ไม่รู้ว่าชั่วโมงนั้น” จะมาถึงเมื่อไหร่ เหล่าอัครสาวกยังรู้ด้วยว่าพวกเขาไม่อาจบอกเวลาที่แน่นอนของเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ที่พวกเขาตั้งตารอได้ เปโตรเล่าถึงคนที่จะพูดจาเยาะเย้ยเสียดสีเรื่อง “พระสัญญาเรื่องการเสด็จกลับมา” นี้ (2 เปโตร3:4) ท่านได้ดูหมิ่นความไร้ศรัทธาของคนเหล่านั้น หรือสิ่งที่ท่านเรียกว่า “การจงใจไม่ให้ความสำคัญ” คือ คนทีเชื่อในสิ่งที่เขาอยากจะเชื่อ โดยไม่พิจารณาหลักฐานประกอบใดๆ และเปาโลเองก็ไม่สงสัยเลยเช่นกัน เพราะท่านยังคงบันทึกต่อไปว่า “ดูก่อนพี่น้องทั้งหลาย เรื่องวันและเวลาที่ทรงกำหนดไว้นั้นไม่จำเป็นจะต้องเขียนบอกให้ท่านรู้ เพราะท่านเองก็รู้ดีแล้วว่าวันขององค์พระผู้เป็นเจ้าจะมา” (1 เธสะโลนิกา 5:1-2) คุณสามารถต่อข้อพระคัมภีร์ข้อข้างบนนั้นได้ไหม เพราะมันกำความลับเรื่องสำคัญสองประการซึ่งเกี่ยวกับการเสด็จกลับมาโดยไวของพระคริสต์ ให้สังเกตข้อพระธรรมด้านบนว่ากล่าวถึงอะไร นั่นคือ จะมีลางบอกเหตุ หรือสิ่งที่เปาโลเรียกว่า “วันและเวลา” ซึ่งจะช่วยเตรียมเหล่าผู้เชื่อให้พร้อมเสมอ ข้อพระธรรมข้างต้นยังมีต่ออีกว่า “…วันขององค์พระผู้เป็นเจ้าจะมาเหมือนอย่างขโมยที่มาในเวลากลางคืน” เมื่อถึงกำหนดนั้น การเสด็จมาของพระองค์พระผู้เป็นเจ้าจะรวดเร็ว กระทันหันและเป็นไปอย่างไม่ทันรู้ตัว ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าเมื่อใดขโมยจะขึ้นบ้าน ซึ่งหัวขโมยก็มักจะโจรกรมสำเร็จเพราะผู้คนมักจะมองข้ามอันตรายที่อาจมีมาถึง นี่ก็เป็นเรื่องความเร็วซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การปล้นสำเร็จลุล่วง และก็เป็นเหตุผลให้พระคริสต์ทรงใช้สิ่งนี้เป็นอุปมาสอนเรา ดังที่ปรากฏใน (มัทธิว 24:43) เปาโล( 1 เธสะโลนิกา 5:2) และเปโตร (2 เปโตร3:10) เพื่อย้ำเตือนถึงประเด็นสำคัญที่พระองค์ต้องการให้เราจดจำ เราต้องเตรียมพร้อมเสมอ ไม่ละสายตาแม้แต่นาทีเดียว ต้องใส่ใจอย่างต่อเนื่อง เพราะองค์พระผู้เป็นเจ้าอาจจะมาได้ทุกเวลา ! พระองค์จะเสด็จมาในเวลาที่เราไม่คาดหวังว่าจะเจอพระองค์ ! วันและเวลานั้น นั่นคือเหตุผลที่ว่าเมื่อพระเยซูทรงอธิบายถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นก่อนที่พระองค์จะเสด็จกลับมา พระองค์ทรงเน้นเรื่องการเฝ้าระวังอย่างมาก ในขณะที่นั่งอยู่กับบรรดาอัครสาวกบนภูเขามะกอกเทศที่ซึ่งพระองค์เสด็จขึ้นสู่สวรรค์ในกาลต่อมา พระองค์ทรงสอนพวกเขาให้รู้ถึงลางบอกเหตุที่จะมีขึ้นก่อน “การเสด็จกลับมาอีกครั้งและกาลอวสานของโลก” (มัทธิว 24:3) คำทำนายนี้นำไปสู่การท้าทายที่น่าตื่นเต้น เพราะมันรวมไว้ซึ่งคำทำนายระยะสั้นเกี่ยวกับการล่มสลายของกรุงเยรูซาเล็มและการทำลายพระวิหารและการคาดคะเนระยะยาวถึงเหตุการณ์ระดับโลก รายการเหตุการณ์ซึ่งถูกทำนายไว้ในหนังสือพระธรรมสามฉบับ (มัทธิว 24, มาระโก13 และ ลูกา 24) ซึ่งไม่ได้ถูกเรียงไว้ตามลำดับเวลาการทำนาย กล่าวถึงเรื่องต่อไปนี้ 1. ความรุ่งโรจน์ของศาสนาคริสต์เทียมเท็จและบรรดาผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นพระคริสต์ 2. การกดขี่ข่มเหงคริสตชนที่แท้จริง 3. สงครามและข่าวลือเรื่องสงคราม บรรดาประชาชาติต่อสู้กันเอง 4. แผ่นดินไหว ความอดอยาก โรคระบาดร้ายแรง 5. กรุงเยรูซาเล็มถูกล้อมกรอบโดยกองทัพหลายกองทัพ 6. ชนชาติยิวกระจัดกระจายไปทั่ว 7. กรุงเยรูซาเล็มตกเป็นเมืองขึ้นของคนต่างชาติ 8. ความยากลำบากและความทุกข์ยาก 9. ลางบอกเหตุต่างๆที่เกิดขึ้นกับดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และดวงดาว 10. สิ่งที่มีอำนาจในท้องฟ้าจะสะเทือนสะท้าน ให้สังเกตว่าผู้เชื่อได้รับการเตือนเกี่ยวกับเรื่องความนิยมและการเติบโตของศาสนาคริสต์เทียมเท็จอย่างไรบ้าง พระดำรัสของพระองค์เป็นจริงเมื่อเกิดมีความนิยมในคำสอนผิดๆอย่างแพร่หลายในยุคพันธสัญญาใหม่ (ตย. กิจการ 20:29) และจะเป็นจริงอีกครั้งในตอนสิ้นยุคนี้ ในที่อื่นๆสารที่ปรากฏคือบรรดาผู้เชื่อที่แท้จะเกาะกลุ่มกันเหลือเพียงกลุ่มเล็กๆกลุ่มเดียวเมื่อเทียบกับกลุ่มที่เชื่อในคำสอนของคริสตศาสนาเทียมเท็จ Link to comment Share on other sites More sharing options...
Resource Manager Posted May 7, 2012 Author Report Share Posted May 7, 2012 ปรปักษ์ของพระคริสต์ บรรดาอัครสาวกยังเตือนเราถึงเรื่องความเคลื่อนไหวนี้ด้วย เปาโลเน้นเรื่องที่ว่าจะมีศาสนาคริสต์เทียมเท็จเกิดขึ้น ท่านได้พยากรณ์ไว้ว่าในวันของพระองค์พระผู้เป็นเจ้า “จะไม่มาถึงจนกว่าจะมีการทรยศเสียก่อน และคนนอกกฏหมายนั้นจะประจักษ์แจ้ง คือลูกแห่งความพินาศ ผู้กีดกั้นขัดขวางและยกตัวขึ้นต่อสู้อะไรๆที่ได้ชื่อว่าเป็นพระหรืออะไรๆที่เขาไหว้นมัสการนั้น” (2 เธสะโลนิกา 2:3, 4) อัครสาวกเปาโลบรรยายถึงคนแห่งความบาปนั้นโดยใช้ถ้อยคำที่อ้างถึงคำพูดของผู้พยากรณ์ดาเนียล ซึ่งได้ทำนายถึง การเกิดและการล่มสลายของอาณาจักรสี่แห่งที่เรืองอำนาจในเขตตะวันออกกลาง ท่านได้เล่าถึงการก่อตัวของอาณาจักรเหล่านั้นไปสู่ระบบความเชื่อทางศาสนาอันเทียมเท็จ รวมถึงอาณาจักโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และระบบการปกครองของพระสันตะปาปา ซึ่งต่อต้านพระคริสต์และเหล่าผู้ที่ติดตามพระองค์อย่างแท้จริง นี่คือศาสนาคริสต์เทียมเท็จ อัครสาวกเปาโลเรียกมันว่า “ความลึกลับแห่งการอธรรม” ซึ่งกำลังลงมือทำงานของมันอยู่ และ “สิ่งลวงตาอันทรงพลัง” อันตรายอื่นๆที่พระเยซูทรงเตือนว่าจะเกิดขึ้นมีมากมาย จะมีสงครามและข่าวลือเรื่องสงคราม ทั้งภายในชาติและระหว่างชาติ จะมีภัยพิบัติทางธรรมชาติมากมายรวมถึงความยากแค้นทั่วไปหมดทุกถิ่น มีแผ่นดินไหว ความอดอยากและโรคระบาดร้ายแรง ความสยองขวัญและภาพอันน่าสะพรึงกลัวปรากฏขึ้นบนท้องฟ้า ก่อให้เกิดความหวาดกลัวและทุกข์โศก ผู้คนไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปทางไหนเพราะกลัวสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ในแง่หนึ่งปัญหานี้ก็มีมาเนิ่นนานพอๆกับอายุของมนุษยชาติ แนวโน้มที่จะก่อสงครามกันนั้นค่อนข้างจะแน่ชัดแม้กระทั่งในหนังสือพระธรรมเล่มแรกของพระคัมภีร์ก็มียังบันทึกไว้ เช่นเดียวกับความอดอยาก แม้ว่าพระคัมภีร์จะบันทึกถึงความโหดร้ายของมนุษย์ไว้ แต่สิ่งที่เคยมีมานั้นก็ยังไม่อาจเทียบเคียงได้กับสิ่งที่คนสมัยนี้ทำ อำนาจที่มนุษยชาติสมัยนี้มีนั้นสามารถทำให้คนปรกติกลับต้องรู้สึกหวาดกลัวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คำที่พระเยซูตรัสไว้ดูจะเป็นจริงยิ่งกว่ายุคสมัยใด ๆ “จะมีหมายสำคัญ...บนแผ่นดินก็จะมีความทุกข์ร้อนตามชาติต่างๆซึ่งมีความฉงนสนเท่ห์เพราะเสียงกึกก้องของทะเลและคลื่น มนุษย์ก็จะสลบไสลไปเพราะความกลัวและเพราะสังหรณ์ถึงเหตุการณ์ซึ่งจะบังเกิดในโลกด้วยว่าบรรดาสิ่งที่มีอำนาจในท้องฟ้าจะสะเทือนสะท้าน เมื่อนั้นเขาจะเห็นบุตรมนุษย์เสด็จมาในเมฆทรงฤทธานุภาพและพระสิริเป็นอันมาก” (ลูกา 21: 25-27) ความทุกข์ยากครั้งใหญ่ การกล่าวอ้างถึงท้องทะเลและคลื่นที่ม้วนตัวซัดเขาหาฝั่ง ก็เหมือนหมายสำคัญที่เกิดขึ้นกับดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวทั้งหลาย อาจเป็นได้ทั้งการกล่าวในเชิงสัญลักษณ์หรือการกล่าวถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงๆ หรืออาจเป็นอาจเป็นทั้งสองประการรวมกัน ผู้เผยวจนะอิสยาห์ได้เขียนเกี่ยวกับคนอธรรมไว้ว่า เป็นเหมือน “ทะเลที่กำเริบเพราะมันนิ่งอยู่ไม่ได้และน้ำของมันก็กวนตมและเลนขึ้นมา” (57:20) พระเยซูอาจทรงวาดมโนภาพเช่นนั้นเพื่อบรรยายถึงโลกที่เต็มไปด้วยปัญหาเพราะในโลกนี้มีแต่ความชั่วร้ายเต็มไปหมด พระองค์อาจกำลังสอนเราเรื่องการรบกวนความเป็นไปทางโลก เช่น คลื่นในทะเล ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงการสิ้นสุดของยุคนี้ แน่นนอนว่าเได้กิดแผ่นดินไหวหลายครั้งหลายครารวมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติในเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาในทั่วทุกมุมโลก อัครสาวกเปาโลบรรยายถึงสังคมโลกว่าเป็น “กำลังคร่ำครวญและผจญความทุกข์ยากด้วยกัน” (โรม 8:22) เช่นเดียวกับผู้หญิงที่กำลังจะคลอดบุตร นี่จึงเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ว่าปัญหาต่างๆในยุคนี้คือความเจ็บปวดก่อนการอุบัติของยุคใหม่ซึ่งดีกว่า ซึ่งคงจะมาถึงในไม่ช้า ในพระธรรมทั้งสองภาคเราทราบว่าความยุ่งยากที่จะต้องเกิดขึ้นพร้อมการสิ้นสุดลงของการปกครองของมนุษย์นั้นคือลางบอกเหตุสุดท้ายของการเสด็จมาครั้งที่สอง ดังนี้ “จะมีเวลายากลำบากอย่างไม่เคยมีมาตั้งแต่ครั้งมีประชาชาติจนถึงสมัยนั้น” (ดาเนียล 12:1) “เป็นเวลาทุกข์ใจของยาโคบ” (เยเรมีย์ 30:7) “ความทุกข์ลำบากใหญ่ยิ่ง” (มัทธิว 24:21) เหล่าผู้เชื่อที่กำลังรอคอยพระผู้เป็นเจ้าของพวกเขาเสด็จกลับมาจะต้องทนทุกข์กับเหตุการณ์นี้หรือว่าพวกเขาจะได้รับการยกเว้นกันแน่ ความเป็นไปได้ก็คือพวกเขาจะมีชีวิตอยู่จนผ่านพ้นยุคแห่งความทุกข์ลำบากนี้ไป พวกเขาเริ่มเข้าสู่ยุคที่ว่านี้แล้ว พระเยซูทรงสัญญาว่าเพื่อเห็นแก่ผู้ที่ถูกเลือกไว้แล้วนั้น วันเวลาแห่งความทุกข์ลำบากยิ่งใหญ่นี้จะสั้นลง (มาระโก 13:20) แต่ในวาระสุดท้าย ผู้ที่สามารถยืนอยู่ต่อหน้าผู้พิพากษา จะเป็นผู้ที่ “คนเหล่านี้คือคนที่มาจากความทุกข์เวทนาครั้งใหญ่พวกเขาได้ชำระล้างเสื้อผ้าของเขาในพระโลหิตของพระเมษโปดกจนเสื้อผ้านั้นขาวสะอาด” (วิวรณ์ 7:14) ในขณะที่ความทุกข์ยากลำบากนั้นจะเพิ่มขนาดขึ้นและพระเจ้าจะทรงเทพระพิโรธของพระองค์ลงเหนือโลกนี้ มีข้อบ่งชี้ว่าเหล่าผู้เชื่อที่แท้จะได้รับการปกป้องจากสิ่งเหล่านั้น อิสยาห์บรรยายถึงการสั่นสะเทือนของสังคมมนุษย์เมื่อพระเจ้าทรงเข้าแสรงแทรงว่า “มาเถิดชนชาติของข้าพเจ้าเอ๋ยจงเข้าในห้องของเจ้าและปิดประตูเสียจงซ่อนตัวเจ้าอยู่สักพักหนึ่งจนกว่าพระพิโรธจะผ่านไป เพราะดูเถิดพระเจ้ากำลังเสด็จออกมาจากสถานที่ของพระองค์เพื่อลงโทษชาวแผ่นดินโลกเพราะความบาปผิดของเขาทั้งหลาย” (24:18-23, 26:20-21) ดังนั้นเราจึงต้องใคร่ครวญให้ดีถึงสิ่งที่พระเยซูทรงตรัสไว้ “เมื่อเหตุการณ์ทั้งปวงนี้เริ่มจะบังเกิดขึ้นนั้นท่านทั้งหลายจงยืดตัวและผงกศีรษะขึ้นด้วยการไถ่ท่านใกล้จะถึงแล้ว” (ลูกา 21:28) เราไม่ควรจะรอให้ภัยพิบัติเกิดขึ้นก่อนจนหมดทางแก้ ทับเป็นการดีกว่าที่จะเรียนรู้บทเรียนนี้ตั้งแต่วันนี้ว่าบัดนี้เป็นช่วงเวลาก่อนการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์เจ้าแล้ว Link to comment Share on other sites More sharing options...
Recommended Posts